วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กำอู้บ่าวสาว



     สวัสดีคะทุกๆคน ใกล้จะถึงวันวาเลนไทน์เข้ามาทุกทีๆ ใจก็เต้นตุ๊บป่อง ตุ๊บป่องว่าปีนี้ก็คงจะแห้วเหมือนปีที่ผ่านๆ มา คือ ไม่มีใครเอาดอกไม้ช่อน้อยๆ มาให้ตามเคย แต่ก็ไม่ใส่ใจอะไรมากมาย คริๆ แต่ถ้ามีก็คงจะดีว่างั้นเหอะ 


  

     ออกนอกเรื่องไปละกลับมาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าหลังจากที่ได้ ทำเนื้อหาเกี่ยวกับคำคมล้านนาที่เกี่ยวกับการเปรียบเทียบเปรีบยเปรยเรื่องราวต่างๆที่มักจะแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา มาคราวนี้จึงอยากทำเนื้อหาเกี่ยวกับ กำอู้บ่าวสาว เนื่องจากการที่หนุ่มสาวจะตกลงปลงใจยินยอมมาใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยานั้น จะต้องเริ่มต้นมาจากการได้พบปะพูดจา ดูอุปนิสัยซึ่งกันและกันมานานพอสมควร ครั้นเห็นว่ามีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายคลึงกัน ก็มีการหมายหมั้นแต่งงานกันไปในที่สุด




              หนุ่มสาวในสมัยก่อนนั้น ไม่นิยมที่จะมา "อู้สาว" ในเขตละแวกหมู่บ้านเดียวกันเพราะเคยเห็นกันมาตั้งแต่ยังเล็กๆ เคยเล่นหัวด้วยกันมา มีความรักใคร่กันเหมือนญาติพี่น้อง อีกประการหนึ่งนั้นการที่จะมา "อู้สาว" หมู่บ้านเดียวกันนั้นมักจะถูกล้อเลียนว่า "แอ่วสาวบ้านเดียวเหมือนเตียวไปขี้" ความหมายก็คือ การที่ไปจีบสาวในหมู่บ้านเดียวกันนั้นเปรียบเหมือนกับเดินไปหาส้วมนั่นเอง การนั่ง "อู้สาว" จะไม่มีการล่วงเกินกันเลย จนกว่าจะได้รับการฝากรัก และฝ่ายหญิงก็เต็มใจด้วย ซึ่งหมายความว่า ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงนั้นก็พร้อมที่จะตกแต่งเป็นสามีภรรยากันแล้ว จึงจะมีการ "ผิดผี" กันขึ้น

             ทีนี้จะกล่าวถึงการมาแอ่วของพวกบ่าวๆ เมื่อพวกบ่าวมาถึงบริเวณบ้าานก็จะ "อู้กำค่าวกำเคลือ" เป็นทำนองขอขึ้นไปนั่งบนบ้านว่า

"สาวเหยสาว อ้ายคนบ่เหมาะ ขอเปาะสักเกิ่ง อ้ายคนบ่เปิง เปาะนี่สักผาก นั่งต๋ามหัวต๋ง หัวแป้นหัวฟาก ก่อหล้างบ่เป๋นหยังก้าหา" ซึ่งแปลว่า น้องสาวจ๊ะ พี่คนต่ำต้อยขอขึ้นไปนั่งบนบ้านสักนิดจะได้ไหม จะขอนั่งแถวๆหัวบันใดนี่แหละ เจ้าของบ้านคงจะไม่ว่าให้กระมัง



ข้างฝ่ายสาวก็จะเชื้อเชิญด้วยกำค่าวกำเคลือเหมือนกันว่า

"นั่งเต๊อะๆ จะไปนั่งตั๊ดต๋ง ฟากจะไหลลง ต๋งจะไหลถี่ คนงามคนดี นั่งไหนก่อได้เจ้า" ซึ่งแปลว่า นั่งเถิดจ๊ะ แต่อย่าไปนั่งแถวหัวบันใดเลย คนดีๆหล่อๆ จะขึ้นมานั่งตรงไหนก็ได้จ๊ะ

เมื่อฝ่ายบ่าวๆ พากันขึ้นไปนั่งบนบ้านเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มเกี้ยวพาราสีกันด้วยกำค่าวกำเคลือซึ่งพวกบ่าวๆที่ไปด้วยกันนั้น ก็จะช่วยสนับสนุนคำพูดของพวกเดียวกกัน บางทีสาวก็อับจนต่อถ้อยคำ จะหากำค่าวมาแก้ก็คิดไม่ออก พวกบ่าวๆ เหล่านั้นก็จะหากำค่าวที่่ค่อนข้างจะตลกๆ มาแก้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ฝ่ายสาวต้องอับอายที่อับจนต่อถ้อยคำนั่นเอง กำค่าวตลกๆ ที่เอามาแก้กันนั้น พวกหนุ่มๆ เหล่านั้นก็จะพูดกันเองแก้กันเองก็ได้ เช่น 

"เปิ้นแมวลี้ ใคร่แอ้มแถมสอง ขี่เฮือน้ำนอง จั้งต๋ายรถคว่ำ" แมวลี้ ก็หมายถึง มีแล้ว ตัวเขามีแล้วแต่อยากจะมีถึงสองคน เปรียบเหมือนขี่เรือในยามน้ำหลากนั้น ย่อมจะตายเพราะรถพลิกคว่ำ

ฝ่ายแก้ก็จะแก้ว่า "แมวบ่ลี้ บ่ได้กิ๋นหนู๋ ปล๋าเหยี่ยนอยู่ฮู ยังใส่เตี่ยวก้อม" ซึ่งแปลว่า แมวไม่แอบก็ไม่ได้กินหนู เหมือนปลาไหลอยู่ถึงในรู ยังรู้จักนุ่งกางเกงหูรูด

บางทีการไปอู้สาวนั้น ก็อาจจะไปเจอคำปริศนา เพื่อลองภูมิกับพวกบ่าวๆ เช่นฝ่ายสาวถามว่า "อ้ายมาแอ่วนี่ ข้ามน้ำมากี่แม่ ประตู๋บ้านหับกาว่าไข ประตู๋คันใดไขกาว่าเปิ้ง" ซึ่งแปลว่า พี่มาเที่ยวที่บ้านของน้องนี้พี่ข้ามแม่น้ำมากี่สาย จุดแคร่ (คบไฟหรือไต้) มากี่อัน ประตูบ้านของพี่ปิดเอาไว้หรือเปิดทิ้งเอาไว้ ประตูบันใดใส่กลอนเอาไว้หรือเปิดอ้าเอาไว้ ซึ่งความหมายของปริศนานี้นั้น เป็นการถามถึงการไปแอ่วหาผู้หญิงคนอื่นมากี่คน แวะไปกี่บ้านถึงจะมาถึงบ้านของเธอ และที่บ้านนั้นมีคนรอคอยหรือเปล่า อาจจะหมายถึงว่ามีเมียอยู่ที่บ้านไหม

บ่าวก็จะต้องตอบว่า "อ้ายมาแอ่วนี่ ข้ามน้ำมาสามแม่ ต๋ามแค่มาสามก้าน มาดับบ้านอี่นายเนี่ยก่า" ซึ่งแปลว่า กว่าจะมาถึงที่นี่ก็ได้ไปแวะบ้านผู้หญิงมาสามคน และแวะมาสามบ้าน ตั้งใจจะมาเที่ยวที่บ้านของผู้หญิงคนนี้เป็นบ้านสุดท้ายนั่นเอง

ในวันนี้ก็ขอฝากไว้เพียงเท่านี้สำหรับ "กำอู้บ่าวสาว" ว่ากว่าจะได้อยู่ร่วมหอห้องเดียวกันนั้นแสนที่จะยากเข็ญเพราะผู้หญิงสมัยก่อนเป็นผู้ที่รักนวลสงวนตัว และฝ่ายชายก็ไม่มีนิสัยปากว่ามือถึงเหมือนสมัยนี้ด้วยค่ะ 

 



1 ความคิดเห็น:

  1. เป๋นคนเมืองเหมือนกันครับ ยินดีตี้ได้มาแอ่ว หันblogที่ปี้สาวคนงามเขียนแล้วดีมากในแง่การส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะภาษากำเมือง นับวันคนรุ่นใหม่มักจะบ่าค่อยอู้กั็น ต่อไปถ้าเฮาบ่าแล้วไผจะอู้ครับ ผมเป็นคนล้านนา เจียงใหม่ก็หันความสำคัญของภาษาปื้นเมือง ก็ขอฮ่วมฮักษาภาษาวัฒนธรรมล้านนาตวยกั๋นครับ
    ขออนุญาติปี้สาวยืมฮูบงามๆไปลงในเว็บโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาเน้อครับ

    ตอบลบ